ไพล
ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber montanum (Koen.) Theilade
วงศ์ Zingiberaceae
ชื่อพ้อง Z. cassumunar Roxb., Z. purpureum Roscoe
ชื่ออื่นๆ ปูลอย ปูเลย มิ้นสะล่าง ว่านไฟ
สารออกฤทธิ์
ได้มีผู้ทดลองฤทธิ์ลดการอักเสบของสารที่สกัดได้จากไพลหลายชนิด คือ (E)-4(3¢,4¢-dimethylphenyl) but-3-ene (1) ออกฤทธิ์ยับยั้ง prostaglandin (2) เคอร์คิวมิน ซึ่งเป็นสารสีเหลือง (3-9) และ cassumunarins A, B, C น้ำมันหอมระเหย (10, 11)
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เกี่ยวกับแก้ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
1. ฤทธิ์ลดการอักเสบ
มีผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ลดการอักเสบหลายฉบับคือ เมื่อทดลองใช้สารสกัดเมทานอล ขนาด 3 ก./กก. โดยให้ทางกระเพาะอาหาร (intragastic) ของหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบโดย carrageenan พบว่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบ (1) และเมื่อทดลองโดยใช้น้ำมันหอม ระเหยจากไพลให้ทางปากในคน พบว่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบ (10) เมื่อให้หนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำ ให้เกิดการอักเสบโดย carrageenan พบว่าไม่มีฤทธิ์ (10)
ส่วน ฤทธิ์เฉพาะที่พบว่า เมื่อใช้สารสกัดเอทิลอะซีเตทหรือสารสกัดน้ำ ทาที่ใบหูของหนูถีบจักรเพศผู้ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่หูด้วย phorbol myristate acetate ในขนาด 1 มก./หู พบว่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบ (12) ส่วนการใช้สารสกัดเอทานอลทาที่ใบหูของหนูขาวเพศผู้ พบว่ามีฤทธิ์ โดยขนาดที่สามารถยับยั้งการอักเสบได้ 50% มีค่าเท่ากับ 854 มคก./ตัว (13) การใช้สารสกัดอะซีโตนทาที่อุ้งเท้าหลังของหนูขาวเพศผู้ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าหลังด้วย carrageenan พบว่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบ โดยขนาดที่สามารถยับยั้งการอักเสบได้ 50% เท่ากับ 22 มก./ตัว (14)
สำหรับสารที่ออกฤทธิ์ลดการอักเสบนั้นมีผู้ทดลองใช้สาร (E)-1-(3-4-dimethoxyphenyl) butadine (DMPBD) บริสุทธิ์ที่สกัดได้จากไพล ทาที่หูของหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการ อักเสบด้วย ethyl phenylpropiolate (EPP), arachidonic acid (AA) หรือ 12-O-tetradecanoyl-phorbol 13-acetate โดยการทดลองเปรียบเทียบกับ oxyphenbutazone และ phenidone ผลการทดลองพบว่า สารดังกล่าวมีฤทธิ์ลดการอักเสบ นอกจากนี้ยังมีการทดลองใช้สาร DMPBD นี้ทาอุ้งเท้าของหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย carrageenan โดยทำการทดลองเทียบกับ diclofenac ผลการทดลองพบว่า สารดังกล่าวมีฤทธิ์ลดการอักเสบใกล้เคียงกับ diclofenac ส่วนหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย platelet-activating factor (PAF) ผลการทดลองพบว่าทั้ง DMPBD และ diclofenac ไม่สามารถลดอาการบวมที่อุ้งเท้าได้ จากผลการทดลองดังกล่าวจึงเชื่อว่าสาร DMPBD มีกลไกการออกฤทธิ์ลดการอักเสบ โดยไปยับยั้งที่ เอนไซม์ cyclooxygenase และเอนไซม์ lipoxygenase ของ arachidonic acid metabolism (15)
มีผู้พบสารออกฤทธิ์อื่นอีก ได้แก่ cassumunarins A, B, C ที่สกัดได้จากเหง้าไพล พบว่าลดการอักเสบที่หูของหนูถีบจักรที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย 12-O-tetradecanoyl-phorbol 13-acetate เมื่อเปรียบเทียบกับสาร curcumin ผลการทดลองพบว่า สารสกัด cassumunarins A, B, C มีฤทธิ์ต้านการอักเสบแรงกว่า curcumin (16) compound D หรือ (E)-4(3¢,4¢-dimethoxyphenyl) but-3-en-2-ol ซึ่งเป็นสารที่สกัดจากเหง้าไพล มีฤทธิ์ลดการอักเสบที่หูของหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย carrageenan โดยใช้ compound D ขนาด 2.5 มล./กก. ผลการทดลองพบว่า compound D มีฤทธิ์ลดการอักเสบเล็กน้อย โดยยับยั้งการสะสมของ leukocyte และการสร้าง prostaglandin ทั้งนี้ในการทดลองนี้ทำการทดลองเทียบกับยา aspirin, indomethacin และ prednisolone (17)
2. ฤทธิ์แก้ปวด
มีการทดลองใช้สารสกัดเมทานอล ให้ทางกระเพาะอาหาร (intragastic) ของหนูถีบจักรที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย acetic acid โดยใช้สารสกัดในขนาด 3 มก./กก. พบว่ามีฤทธิ์แก้ปวด (1) และมีการทดลองใช้สาร compound D หรือ (E)-4-(3’,4’-dimethoxyphenyl) but-3-en-ol ขนาด 2.5 มล./กก.พบว่ามีฤทธิ์แก้ปวดในหนูถีบจักรที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดอาการปวดด้วย acetic acid ทั้งนี้ได้ทดลองเทียบกับยา aspirin, indomethacin และ prednisolone (17)
จากผลการทดลองดังกล่าวข้างต้นจึงมีผู้นำไปทดลองทางคลินิกโดยการทำเป็นครีมไพล(ไพลจีซาล) ซึ่งมีน้ำมันหอมระเหยเป็นส่วนประกอบ (14%) พบว่าลดอาการปวดบวมในการรักษาข้อเท้าแพลง โดยการทำการทดลองแบบ double-blinded randomize controlled trial เทียบกับ paracetamol ผลการศึกษาพบว่ามีฤทธิ์แก้อักเสบ (18)
นอกจากนี้ยังมีการทดลองโดยใช้ครีมไพลกับผู้ป่วยจำนวน 20 ราย ที่บาดเจ็บเนื่องจากข้อเท้าเคล็ด โดยศึกษาเทียบกับ analgesic cream ใช้วิธีการวัดผลการทดลองโดยวัดปริมาตรขาตามหลักอะคีเมดีส ผลการศึกษายังไม่แน่นอน (19)
หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ
1. การทดสอบความเป็นพิษ
เมื่อให้หนูกินสารสกัดเหง้าด้วยเอทานอล (50%) (20) หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ขนาด 10 ก./กก. ไม่พบพิษ ให้หนูกินสารสกัดเหง้าด้วยอัลกอฮอล์หรือด้วยเฮกเซน ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งมีค่า 20 ก./กก. และ 80 ก./กก. ตามลำดับ และพบว่าเมื่อผสมเหง้าไพลแห้งในอาหารหนู (ร้อยละ 0.5, 3 และ 18) ให้กินนาน 6 เดือน ไม่พบพิษ (21)
2. ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์
สารสกัดหัวไพลด้วยน้ำในขนาด 0.5 ซีซี/แผ่น ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ใน Bacillus subtilis H-17 (Rec+) และ M-45 (Rec) (22)
3. พิษต่อยีน
สาร D จากไพลทำให้ chromosome ผิดปกติ (23)
จาก หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า ไพลสามารถลดการอักเสบและแก้ปวด จึงช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ และมีผลิตภัณฑ์จำหน่ายขององค์การเภสัชกรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น